ใครควรเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานศิลปะที่สร้างโดย AI ?
top of page

ใครควรเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานศิลปะที่สร้างโดย AI ?


ลิขสิทธิ์ควรเป็นของใคร? ขอแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

1. ผู้พัฒนา AI 2. ผู้ใช้ AI 3. ผลลัพธ์จากการใช้ AI


เรื่อง ลิขสิทธิ์ เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายของประเทศใดห้ามการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานที่สร้างโดย AI ไว้ชัดเจน ในสหภาพยุโรป The European Court of Justice วางหลักการว่าการสร้างสรรค์ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ต้องสะท้อนถึง “การสร้างสรรค์ทางปัญญา” ที่ต้องใช้ทักษะ แรงงาน และกระบวนการตัดสินใจจากมนุษย์ แต่การใช้ Generative AI ที่เป็น AI ประเภทที่แม้กระทั่งมนุษย์คนที่ป้อนคำสั่งเอง ก็อาจจะคาดเดาผลลัพท์ในตัวผลงานที่จะออกมาไม่ได้ 100% เช่นกันกับ Copyright office ของสหรัฐฯที่ปฏิเสธความคุ้มครองลิขสิทธิ์แก่ผลงาน ที่ถูกสร้างโดย AI เนื่องจากขาดองค์ประกอบของ “การถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์” (Human Authorship)


เพราะฉะนั้นหากตัดสินกันตามบริบทของกฏหมายนี้ ก็อาจจะเป็นการยากที่จะทำให้ผลงานที่เกิดขึ้นจาก Generative AI นี้จะได้รับความคุ้มครองในเรื่องลิขสิทธิ์


ประเทศต่างๆควรจัดเตรียมแนวทางเรื่องลิขสิทธิ์ของ AI อย่างไรในอนาคต?

ก่อนที่จะไปถึงเรื่องลิขสิทธิ์ แต่ละประเทศจะต้องให้ความสำคัญกับแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand Artificial Intelligence Ethics Guideline) เสียก่อน ซึ่งในประเทศไทยเอง มีหน่วยงานจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่รับผิดชอบเรื่องนี้และได้มีการเผยแพร่เอกสารฉบับปี 2564 เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการพัฒนา ส่งเสริม และนำไปใช้ในทางที่ถูกต้องและมีจริยธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมต่อไป ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

สำหรับเรื่องลิขสิทธิ์ ทางหน่วยงานที่รับเรื่องในการอนุมัติผลงาน ควรจะมีกฎเกณฑ์ในการคัดกรองผลงาน โดยอาจจะใช้ตัวชี้วัดต่างๆ มาช่วยประเมิน เช่น ข้อมูล ประเภทของผลงาน ประเภทของ AI รูปแบบการนำผลงานไปใช้ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการประเมินว่า ผลงานนี้สามารถใช้ AI เป็นส่วนประกอบได้หรือไม่และมีความเสี่ยงอย่างไร


นอกจากปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ที่มีความท้าทายแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆ จาก AI ที่น่ากังวลอีกหรือไม่? เนื่องจากเมื่อเร็วๆนี้ ก็มีการยื่นเรื่องในสหรัฐ ขอให้ระงับการพัฒนา AI ไปก่อนจนกว่าจะมีการออกกฎหมายมาควบคุม


เมื่อยังไม่มีกฎหมาย หรือแนวทางที่ชัดเจนในการใช้ AI หากเป็นการใช้งานที่มีความเสี่ยง ก็จำเป็นจะต้องการทบทวนใหม่เสียก่อน ช่วงที่ผ่านมา AI เป็นกระแสที่มาเร็วมาก เร็วจนแต่ละองค์กรแต่ละประเทศไม่สามารถออกกฎระเบียบ หรือแนวทางในการใช้ AI ได้ทัน

ที่สำคัญที่สุด คือ ก่อนที่จะนำ AI มาใช้งาน ผู้ใช้งานจะต้องมีวิธีการในการทดสอบเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการใช้ AI นั้น มีความสัมพันธ์กับข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลที่เป็นความลับขององค์กร ก็จะต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยอีกด้วย


อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ เรื่องของข้อมูล เพราะ AI เกิดจากการนำข้อมูลขนาดใหญ่ไปให้ Machine Learning เรียนรู้ จึงต้องแน่ใจว่า ข้อมูลต้นแบบนั้นเหมาะสมกับการนำไปใช้งานจริงๆ ทั้งในมุมความสะอาด ความเป็นระเบียบ และความครบถ้วน เพื่อให้ AI นั้นมีความน่าเชื่อถือ ดังนั้นการเปิดเผยที่มาของข้อมูลของผู้พัฒนา AI จึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมไปถึงระบบในการบริหารข้อมูลขององค์กรที่นำไปใช้งานก็ควรมีการบริหารที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการมีธรรมาภิบาลข้อมูลและระบบบริหารข้อมูลขนาดใหญ่

สุดท้ายแล้ว AI ณ วันนี้ ยังคงเป็นเพียงผู้ช่วยในการทำงานเท่านั้น คำถามคือเมื่อเราจะนำ AI มาใช้งาน เรามีการกำหนดชัดเจนหรือไม่ว่าใครจะเป็นรับผิดชอบ AI นี้ ซึ่งมองในมุมการทำงาน จะพบว่าแท้จริงแล้ว AI ไม่ได้แย่งงานมนุษย์ แต่อาจเป็นมนุษย์ที่ปรับตัวได้มากกว่าต่างหากที่แย่งงานคนอื่นไป


References: The reasonable robot : (wipo.int) Artificial Intelligence and the Copyright Dilemma by Kalin Hristov :: SSRN Artificial intelligence and copyright (wipo.int)

แท็ก:

< Previous
Next >
bottom of page