สถานการณ์ Big Data in Healthcare ตอนที่ 1: เมื่อระบบ Digital เข้ามาแทน
top of page

สถานการณ์ Big Data in Healthcare ตอนที่ 1: เมื่อระบบ Digital เข้ามาแทนที่กระดาษ


Big Data in Healthcare Part 1

ในช่วงที่ผ่านมา บริษัท คอราไลน์ จำกัด ได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์ Big Data ในแวดวงสาธารณสุข ทั้งในระดับโรงพยาบาล และการพัฒนาการรักษาพยาบาลในหลายๆ โครงการ จึงเป็นที่มาของบทความนี้ เพื่อแชร์มุมมองในการปรับตัว เมื่อ Digital กำลังกดดันให้เราทุกคนต้องปรับตัว

ก่อนหน้านี้เราคงเคยชินกันดี กับการที่แพทย์จะเขียนประวัติของเราลงไปในแฟ้มเก็บเอกสาร อาจจะมีการเขียนใบสั่งยาส่งต่อให้เภสัชกร เพื่อเบิกยา และมีการรอเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาล กระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นบนกระดาษ หรือเรียกได้ว่า เป็นการทำงานโดยมนุษย์ทั้งสิ้น (Manual)

ในมุมของคนทำงาน มันก็สะดวกดี เพราะเราทุกคนสามารถเขียนหนังสือได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งถ้าเขียนประโยคซ้ำๆ ชื่อซ้ำๆ อาการซ้ำๆ ด้วยแล้ว นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ลายมือของแพทย์ เป็นลายมือที่เรียกได้ว่า มีลายเส้นที่ดูเหมือนไม่ใช่ภาษาที่คนทั่วไปจะอ่านออกได้กันเลยทีเดียว

แต่เมื่อมีระบบเข้ามาแทนที่ หลายคนอาจจะมองว่า ระบบนี้ทำให้การทำงานช้าลง เพราะต้องคอยกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน ต้องฝึกพิมพ์ใหม่ อาจจะมีผิดๆ ถูกๆ บ้าง ทำให้เกิดความกังวลเรื่องการใช้งานระบบขึ้น หลายองค์กรจึงยังไม่เห็นความสำคัญของการลงระบบแทนที่การเขียนประวัติการรักษาลงในกระดาษ

ความเป็นจริงแล้ว เหตุผลที่ต้องใช้ระบบ ไม่ใช่เพราะต้องการลดการใช้กระดาษ แต่เป็นการต้องการเก็บข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบพร้อมใช้ เป็นรูปแบบเดียวกัน เพราะนั่นจะทำให้ข้อมูลที่เกิดขึ้นในระบบ สามารถนำมาต่อยอด หรือวิเคราะห์ได้กว้างกว่า ลึกกว่า

ถ้าเก็บข้อมูลด้วยกระดาษ แพทย์จะทราบแค่ว่า คนคนนั้นป่วยเป็นโรคอะไร มีอาการอะไร เข้ามารักษาเมื่อวันที่เท่าไหร่ เมื่อแพทย์ผู้นั้นเปิดดูแฟ้มประวัติ โดยที่แฟ้มนั้นจะต้องมาอยู่ตรงหน้า และต้องมีการดูแลรักษาอย่างดี

ในขณะที่หากเป็นระบบ ประวัติการรักษาจะถูกเก็บเอาไว้ในรูปแบบ Digital ที่แพทย์ผู้มีอำนาจในการเปิดดูประวัติ สามารถเปิดดูที่ไหนก็ได้ แม้น้ำจะท่วมอีกกี่ครั้ง ปลวกจะขึ้นโรงพยาบาลอีกกี่รอบ แฟ้มประวัติคนไข้ก็ไม่หายไปไหน

ที่สำคัญที่สุด คือ การสามารถนำข้อมูลการป่วยมาวิเคราะห์ต่อได้ทันที เช่น ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมเหมือนกัน อาจเกิดจากการใช้ยาฮอร์โมนตัวเดียวกัน แสดงว่าฮอร์โมนบางตัวมีผลต่อประชากรไทย ก็เป็นได้

ข้อมูลอะไรที่เกิดซ้ำๆ กัน นั้นอาจหมายถึงมีปัจจัยร่วมก็เป็นได้ ซึ่งจะสามารถวิเคราะห์ได้ทันที หากข้อมูลนั้นอยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้ พร้อมให้นำมาวิเคราะห์

แล้วจะทราบได้อย่างไร ว่า ข้อมูลนั้นพร้อม? เอาง่ายๆ เลย หากคุณจะวิเคราะห์ตัวเลขอะไรก็ตามจำนวนมากๆ คุณจะกดเครื่องคิดเลข หรือใช้ Microsoft Excel? ก็คงต้องเป็นคำตอบหลัง และการจะนำข้อมูลเข้า Microsoft Excel คุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้าคุณต้องพิมข้อมูลจากกระดาษเข้าไปใหม่ทุกครั้ง? มันก็เป็นการทำงานซ้ำซ้อน ในขณะที่หากข้อมูลอยู่ในรูปแบบ Digital แล้ว พร้อมใช้แล้ว คุณก็แค่ใส่สูตรคำนวณ แล้วกด Enter แค่นั้นก็ได้กราฟสวยงาม พร้อมให้มีการวิเคราะห์ต่อยอดได้ต่อไป

 

ที่เล่ามานี้ เป็นเพียงการเกริ่นเรื่อง ความเป็นจริงแล้ว มันไม่ง่ายเช่นนั้น เพราะอะไร? เพราะความวุ่นวายในโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลของภาครัฐ ที่มีจำนวนผู้ป่วยมหาศาล และยังมีต้องมีการจัดการคิวของผู้ป่วยอีกด้วย การลงระบบในช่วงแรก จึงกระทบต่อการทำงานอย่างมาก ทำให้เกิดความตึงเครียดในการทำงานของผู้เกี่ยวข้อง

บางท่านมองว่า การกรอกข้อมูล ก็เพื่อให้ทราบประวัติผู้ป่วย ทำไมต้องลงระบบให้ยุ่งยาก ความคิดนี้ไม่ผิด เพราะการเปลี่ยนแปลงมันสร้างความยุ่งยากในตอนต้นเสมอ แต่ถ้ามีความเข้าใจในผลลัพธ์ ก็จะเกิดความร่วมมือที่ดีได้

เหมือนครั้งแรกที่เราทุกคนเรียนขับรถ เราต่างมีความกังวล เรากลัว เรางง ต้องใช้เวลาสักระยะในการปรับตัว ไม่ต่างกันกับการใช้ระบบต่างๆ มาทดแทนงาน Manual ในองค์กร

หากไม่มีการใช้ระบบในการบันทึกประวัติผู้ป่วย สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ เราจะไม่มีการรวบรวมข้อมูลการรักษาพยาบาลของคนไทยที่พร้อมใช้เลย และนั่นส่งผลให้ทางส่วนกลาง ไม่สามารถจัดสรร ปันส่วนงบประมาณของประเทศให้โรงพยาบาลต่างๆ ได้ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตด้านสาธารณสุขของประชากรไทยไม่ก้าวเดินไปข้างหน้า เหมือนของที่อื่น

คุณจำประวัติการป่วยของคุณได้หรือไม่?

คุณจำครั้งสุดท้ายที่คุณฉีดวัคซีนกันบาดทะยักได้หรือไม่?

คุณทราบหรือไม่ว่า แต่ละช่วงอายุจำเป็นต้องมีการตรวจสุขภาพอย่างไรบ้าง?

คำถามเหล่านี้ อาจถูกแก้ด้วยการมีข้อมูลในระบบ ก็เป็นได้

ความร่วมมือเท่านั้น ที่จะแก้ไขสถานการณ์นี้ได้ เพราะการเปลี่ยนขั้นตอนจากเขียนลงกระดาษ เป็นการกรอกข้อมูลให้ครบในระบบนั้น คงไม่ยากจนเกินไป

ระบบ เมื่อได้ชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีแล้ว ต้องสามารถพัฒนาต่อยอดได้ ดังนั้น ในช่วงแรก หากระบบยังไม่เสถียร หรือยังมีข้อบกพร่อง ก็เป็นหน้าที่ของ User ที่ต้องส่ง Feedback กลับมาให้ทีมพัฒนา และทีมพัฒนาก็ต้องใส่ใจรายละเอียด เพื่อให้ระบบนั้นสามารถสร้างคุณค่าได้สูงที่สุด

ดังนั้น บุคคลที่มีส่วนสำคัญในโครงการนี้ จึงมีหลายภาคส่วนมาก ตั้งแต่ฝ่ายทะเบียน เจ้าหน้าที่ห้องบัตร พยาบาล แพทย์ผู้ตรวจ นักกายภาพ เภสัชกร นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักเขียนโปรแกรม ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล รวมไปถึง เราทุกคนที่เป็นผู้ป่วย

เราทุกคน จะช่วยกันให้ทุกอย่างเป็นระบบให้มากขึ้น อาจจะเหนื่อย อาจจะใช้เวลา แต่ประโยชน์ที่ได้นั้น มหาศาลจริงๆ

 

แท็ก:

< Previous
Next >
bottom of page