“เราขาดผู้เชี่ยวชาญด้าน Data” เป็นคำกล่าวที่ได้ยินบ่อยครั้งในสื่อ ซึ่งในเชิงวิชาการแล้วเราไม่ได้ขาด แต่เราขาดผู้เชี่ยวชาญที่สามารถดำเนินงานได้จริง
ทำไมถึงกล่าวว่า ในเชิงวิชาการเราไม่ได้ขาด ก็เพราะว่าคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์มีในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 แล้ว ซึ่งสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์เป็นสาขาที่เปิดสอนตั้งแต่ Database, การเขียนโปรแกรมและการพัฒนา Algorithm ต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานของ AI
นอกจากนี้จากข้อมูลของ The US National Science Foundation, National Center for Science and Engineering Statistics ที่ได้มีการจัดทำแบบประเมินสำหรับบุคคลที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกา พบว่า ในปี 2017 จำนวนบัณฑิตชาวไทยที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกาอยู่ในระดับเดียวกับจำนวนบัณฑิตชาวจีน ดังจะเห็นในรูปด้านล่างนี้
ซึ่งจำนวนประชากรไทย มีจำนวน 70 ล้านคนโดยประมาณ ในขณะที่จำนวนประชากรจีนมีจำนวน 1,386 ล้านคน จากภาพนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่า ด้านการศึกษาแล้วเราไม่ได้ขาดบุคลากรที่มีคุณวุฒิ แต่แล้วทำไมในสื่อ หรือผู้บริหารหลายท่านถึงกล่าวว่า “เราขาดผู้เชี่ยวชาญ”
นั่นเป็นเพราะว่าลักษณะความต้องการในตลาดกับภาควิชาการไม่สอดคล้องกัน ในยุค Digital 4.0 สิ่งที่สำคัญคือการร่วมกันพัฒนา แต่หลายๆ โครงการในองค์กรใหญ่ยังเน้นการจัดซื้อจัดจ้างโดยแบ่งแยกระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้งาน ทำให้สุดท้ายแล้วสิ่งที่พัฒนาออกมานั้นก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานซะทีเดียว
เมื่อธุรกิจเน้นการซื้อระบบสำเร็จรูปหรือมองหาผู้ให้บริการที่รับงานไปดำเนินการ โดยไม่ได้เน้นการร่วมกันพัฒนา จึงทำให้นักพัฒนาส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในตลาดแรงงานกลายเป็นผู้ให้บริการสำเร็จรูปไปโดยปริยาย กล่าวคือเน้นการ Reuse เครื่องมือซ้ำๆ เดิมๆ โดยที่ไม่ได้มีโอกาสพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ
ยิ่งไปกว่านั้นใน TOR มักจะมีการให้คะแนน Project Reference ซึ่งหมายความว่าการจะนำเสนอระบบใดก็ตาม ก็จะต้องเป็นระบบที่เคยมีบริษัทอื่นใช้งานมาก่อน โดยที่ระบบนั้นไม่ใช่ระบบใหม่ที่พัฒนาเพื่อตอบโจทย์ให้กับ TOR นั้นๆ อย่างแท้จริง
เมื่อระบบการทำงานแปลงสภาพไปเป็นการส่งมอบงานมิใช่การร่วมกันพัฒนาเพื่อมองหา Solution ที่ตอบโจทย์ สุดท้ายนักพัฒนาก็ต้องปรับตัว เพราะต่อให้มีไฟในการทำงานมากเพียงใด บริษัทก็ต้องมีสายป่านของ Cash Flow เข้ามาเกี่ยวข้อง
ปัญหานี้มิได้เพิ่งเกิดแต่เกิดมานานแสนนาน จนกระทั่งเข้าสู่ยุค Digital 4.0 ที่ทุกอย่างจะต้องอาศัยทักษะ และประสบการณ์เพื่อออกแบบงานแบบ Customized เราจึงขาด Data Engineer ที่สามารถออกแบบ Data Pipeline ได้ เพราะก่อนหน้านี้เน้นการ Implement ระบบสำเร็จรูป จนกลุ่ม IT ไม่มีสิทธิ์ในการออกแบบการเก็บข้อมูลที่นอกเหนือไปจากขอบเขตของโปรแกรมสำเร็จรูป เช่น โปรแกรม ERP เป็นต้น
ที่เราขาด Data Scientist ทั้งๆ ที่วิชา Optimization หรือ Machine Learning ไม่ใช่วิชาใหม่ เพราะก่อนหน้านี้เราเน้นการใช้ Microsoft Excel และเน้นการใช้ BI เพราะที่ไม่อยากเสียเวลาเขียนโปรแกรมในการสร้าง Model เพราะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ทำให้คนที่เรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ผันตัวเองไปเป็น Programmer บ้าง รับเขียนโปรแกรมที่เน้น Front-End มากกว่าการออกแบบระบบ Customized ที่เน้นทั้ง Back-end, Model, และ Front-end
วันนี้ที่เราขาดคือคนที่เข้าใจและให้โอกาสผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความสามารถ เพราะแม้ว่าคนแต่ละคนจะมีวุฒิการศึกษามาพร้อมเพียงใด แต่หากไร้ซึ่งโอกาสในการได้ลงมือทำจริงๆ สุดท้ายแล้ววิชาต่างๆ ที่ร่ำเรียนมา ก็จะหมดอายุไปพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ
คำว่า “เข้าใจ” ในที่นี้ ไม่ใช่แค่เข้าใจว่า “นักพัฒนา” มีหน้าที่ “พัฒนา” แต่เป็นการ “ร่วมกันพัฒนา” คุยกันให้มากขึ้น สื่อสารและร่วมมือกันให้มากขึ้น เพราะการที่มีแต่นักพัฒนาอย่างเดียวผลลัพธ์ก็อาจจะไม่ตรงใจผู้ใช้งาน ซึ่งหากเข้าใจในหน้าที่ของกันและกันจะทำให้ระยะเวลาของการพัฒนาไม่บานปลายและได้ผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์มากที่สุดอีกด้วย
เราไม่ได้ขาดผู้เชี่ยวชาญในเชิงวิชาการแต่เราขาดผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และพร้อมที่จะแก้ปัญหาเมื่อพบเจอกับอุปสรรคต่างๆ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะก่อนหน้านี้เราพึ่งพาเทคโนโลยีสำเร็จรูปจากต่างประเทศมากกว่าการเปิดโอกาสให้นักพัฒนาในประเทศได้แสดงความสามารถอย่างแท้จริง
ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่เราจะช่วยกันส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริงในประเทศของเรา
Comentários