สถานการณ์ Big Data in Healthcare ตอนที่ 3: ความยากในการเปลี่ยนแปลง และ
top of page

สถานการณ์ Big Data in Healthcare ตอนที่ 3: ความยากในการเปลี่ยนแปลงและการวางแนวทางในการปฏิบัติ


Big Data in Healthcare Part 3

จากตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ทำให้เราเห็นภาพกันอย่างชัดเจนแล้วว่า ระบบที่เก็บข้อมูลต่างๆ ในโรงพยาบาลมีความจำเป็นอย่างมาก นอกจากจะทำให้การเก็บข้อมูลเป็นระบบมากขึ้นแล้ว ยังช่วยลดเวลาในการรอ และยังทำให้สามารถนำข้อมูลนั้นไปต่อยอดได้อีกด้วย

แล้วทำไม การใช้ระบบ HIS หรือ ระบบเก็บข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ ถึงทำได้ยากมากในประเทศไทย???

ต้องบอกว่า ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ มันทำได้ เพราะในบทความตอนที่ 2 ก็ได้มีการยกกรณีตัวอย่างมาให้เห็นกันแล้ว ว่า “ทำได้” เพียงแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจาก “ทุก” ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ความยากในการเปลี่ยนแปลง คือ การเปลี่ยน Mindset

แต่ละคนจะมีข้ออ้าง ในส่วนที่ตนไม่ถนัดๆ อยู่เสมอ เช่น คอมพิวเตอร์ใช้ยาก ใช้เวลาในการพิมค่อนข้างนาน แต่เมื่อลองกลับมาคิดดู วันแรกที่เราเปลี่ยนจากมือถือแบบปุ่มกดปกติ เป็น Smart Phone ทุกวันนี้ เราก็ไม่เคยชินเหมือนกัน แต่เมื่อผ่านไปไม่นาน การใช้ไปเรื่อยๆ ทุกวันๆ ก็เกิดเป็นความเคยชินได้เอง และก็ต้องยอมรับว่า Smart Phone เข้ามาทำให้หลายๆ อย่างในชีวิตสะดวกขึ้น

อีกประเด็นหนึ่ง คือ เรื่องระบบทำงานได้ล่าช้า อันนี้เกิดจากการวางแผนการลงระบบ ระบบจะช้า หรือ เร็ว อยู่ที่การวางโครงสร้างพื้นฐานในการประมวลผล

ประเด็นสุดท้าย คือ หากไฟดับ จะทำอย่างไร ก็ต้องดูว่า โอกาสเกิดไฟดับมีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ถ้าไฟดับ แล้วเครื่องช่วยหายใจทำงานได้ฉันใด ระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลก็คงต้องทำงานแบบนั้น ฉันนั้น

การต่อต้าน เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะการต่อต้านนี้แหละ ที่ทำให้การลงมือปรับปรุง เปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องมีความรอบคอบให้มากที่สุด

การจะเปลี่ยน Mindset เป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ก่อนอื่น ต้องทำให้เห็นปัญหาจริงๆ เสียก่อน ทุกหน้าที่ ต้องมีส่วนร่วมกัน และเห็นเป้าหมายของการทำงานร่วมกันทั้งหมด เรื่อง Data ไม่ใช่เรื่องของคนใด คนหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ คนที่ได้ชื่อว่าเป็น “แพะ” มากที่สุดของโรงพยาบาล คือ ฝ่ายการเงิน และ IT เพราะการเงิน คือ ฝ่ายสุดท้ายที่ส่งข้อมูลการเบิกจ่ายไปยังหน่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงสาธารณสุข ประกันสังคม หรือที่อื่นๆ ซึ่งหากข้อมูลมีข้อบกพร่อง ไม่เป็นไปตามรูปแบบโครงสร้างที่กำหนด จะทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายได้ ส่งผลให้ โรงพยาบาลต้องสำรองจ่ายเอง เป็นที่มาของการขาดทุนในโรงพยาบาล แต่หากมองถึงกระบวนการในการได้มาซึ่งข้อมูล ฝ่ายการเงิน เป็นปลายน้ำสุดท้ายแล้ว เขาไม่ได้มีหน้าที่ในการกรอกข้อมูลแต่อย่างใด ทะเบียนมาอย่างไร ผลตรวจมาอย่างไร ห้องยาให้รายละเอียดอย่างไร การเงินก็ทำหน้าที่ส่งเรื่องเท่านั้น แต่หากข้อมูลไม่ครบตั้งแต่แรก ก็ยากที่การเงินจะแก้ไขได้

การแก้ไขข้อมูลที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ได้แก้ได้ด้วยระบบ แต่ต้องแก้ที่ต้นทางของข้อมูล

ส่วน IT เอง ผู้เป็นคนลงระบบ กลายเป็นว่าจะลงระบบใดๆ ก็สร้างปัญหาให้ทั้งสิ้น เพราะ “ระบบ” เป็นสิ่งใหม่

ที่เกริ่นมาทั้งหมด คือ ความยากในการลงระบบ และแนวทางการแก้ปัญหา ก็อยู่ในตัวของมันเอง

“ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และสามัคคีกัน” อย่าแตกแยกกันเลย อย่าโทษกันเลย อย่าเกี่ยงกันเลย อย่างไรเสีย เราก็ไม่สามารถต้านทานการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ได้อีกแล้ว

แนวทางการปฏิบัติคือ

  1. วางเป้าหมายของโครงการ และอธิบายที่มาที่ไป เหตุผล และขั้นตอนต่างๆ ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับทราบ

  2. กำหนด Deadline ให้ชัดเจน ยกเลิกการเก็บข้อมูลด้วยกระดาษภายในสิ้นปี 2018 หรือ จัดตั้งโครงการข้อมูลในโรงพยาบาลจะต้องมีคุณภาพภายในปี 2019 เป็นต้น

  3. ในแต่ละสัปดาห์ มีการทำ Dashboard เพื่อรายงานสถานการณ์รายหน่วยงาน

  4. เก็บ Feedback หรือ ปัญหาต่างๆ เพื่อแจกจ่ายงานให้ผู้เกี่ยวข้อง

  5. มีการสรุปผลการดำเนินการให้ทุกฝ่ายรับทราบร่วมกัน

  6. ในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น ต้องมีการชี้แจง และสามารถปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานได้บ้าง เพื่อความยืดหยุ่น

เดินหน้าแล้ว ต้องเดินต่อไป ไม่ว่าจะมีปัญหาใดเกิดขึ้น ต้องไม่หันหลังกลับ

มันอาจจะฟังดูค่อนข้างตึงเครียด แต่นี้คือเหตุวิกฤต เพราะขณะที่เรากำลังพยายามเปลี่ยนจากระบบกระดาษ ไปเป็นระบบ ที่ประเทศอื่นๆ เขามีการทำ Smart Healthcare กันไปถึงไหนต่อไหนแล้ว ตัวอย่างเช่น Apple Watch ตัวใหม่ที่พึ่งออกตัวเมื่อเดือนที่แล้ว สามารถเก็บข้อมูลคลื่นหัวใจขั้นต้น และส่งสัญญาณไปให้โรงพยาบาลได้อัตโนมัติ

ด้วยสถานะภาพของไทยในตอนนี้ ต้องเรียกว่า ตามหลังเขาอยู่มาก จะเร่ง Speed อีกเท่าไหร่ ก็คงไปได้ไม่ถึงเขา แต่นั่นยิ่งทำให้เราต้องเร่ง Speed เพราะหากเราไม่เร่ง เขาก็จะพัฒนาหนีเราไปเรื่อยๆ จนเกิดช่องว่างมากไปกว่านี้

มันอาจจะเหนื่อยในตอนเริ่ม แต่หากทำได้สำเร็จ ทุกอย่างจะเป็นระบบที่สะดวกสบายขึ้น เหมือนวันแรกที่เราฝึกขับรถ อะไรก็กลัวไปหมด แต่เมื่อขับคล่องแล้ว กลายเป็นว่า จะไปไหนยังไง ก็ง่ายขึ้นจริงๆ

เรื่องที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ คือ Digital Transformation มันไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีจ๋าอะไรขนาดนั้น แต่มันคือการเปลี่ยนแปลงการทำงาน ให้มีการไหลผ่านของข้อมูลที่เป็นระบบมากขึ้น

ขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ในยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีนี้ ทุกคนจะผ่านเรื่องต่างๆ นี้ ไปด้วยกัน


คลิก : อ่านตอนที่ 1 เมื่อระบบ Digital เข้ามาแทนที่กระดาษ

คลิก : อ่านตอนที่ 2 Case Study รพ.รัฐ ที่ต้องการลดเวลาในการรอพบแพทย์


 

< Previous
Next >
bottom of page