Post | Coraline Co., Ltd.
top of page

ความท้าทายของการผลักดัน Data-Driven Organization

จากรายงานของ NewVantage Partners ซึ่งได้ทำแบบสอบถามความเห็นเกี่ยวกับ Data-Driven Organization กับบริษัทชั้นนำของโลกกว่า 94 บริษัท เช่น AIG, Bank of China, JP Morgan Chase, Pfizer, Exxon Mobil, และ McDonalds เป็นต้น พบว่ามีเพียง 26.5% เท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้เกิด Data-Driven Organization ซึ่งความท้าทายในการผลักดันให้เกิด Data-Driven Organization นั้น ประกอบไปด้วย


1. การเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานภายในองค์กร

รายงานของ NewVantage Partners ระบุว่า ปัญหาเรื่องวัฒนธรรมภายในขององค์กรเป็นปัญหาหลักของการผลักดันให้เกิด Data-Driven Organization โดยคิดเป็น 91.9% ของปัญหาทั้งหมด ซึ่งฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรคงหนีไม่พ้นฝ่ายบุคคลหรือ HR นี้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า การผลักดันให้เกิด Data-Driven Organization ไม่ใช่เรื่องของฝั่ง IT เพียงอย่างเดียว เพราะการใช้ข้อมูลเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจ ทำให้กระบวนการทำงานเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่แปลกที่จะมีทั้งคนที่เห็นด้วย และต่อต้าน เพื่อแก้ปัญหาคลื่นใต้น้ำภายในองค์กร การออกแบบโครงสร้างด้านบุคลากร และการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการทำงานจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ควบคู่ไปกับการเพิ่มทักษะให้คนภายในองค์กร


2. ปัญหาคุณภาพของข้อมูล

คุณภาพของข้อมูลเป็นปัญหาที่ทุกองค์กรกำลังเผชิญหน้า และดูเหมือนว่าวิธีการแก้ปัญหาจะต้องทำด้วยความเข้าใจ เพราะแต่ละองค์กรมีรูปแบบการเก็บข้อมูลไม่เหมือนกัน เทคโนโลยีอาจจะเข้ามาเป็นตัวช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วแต่ละองค์กรจะต้องออกแบบแนวทางการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งสาเหตุที่ข้อมูลไม่มีคุณภาพ เป็นเพราะในยุคก่อนที่จะมีการใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนองค์กร ข้อมูลทั้งหลายถูกจัดเก็บเอาไว้บ้าง ไม่ถูกจัดเก็บบ้าง บางส่วนถูกจัดเก็บในรูปแบบกระดาษ บางส่วนเข้าระบบ และส่วนใหญ่ถูกจัดเก็บเอาไว้เพียงเพื่อให้สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในบางกรณี แต่มิได้ต้องการนำข้อมูลไปใช้งานต่อ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องนำข้อมูลมาใช้ข้อมูลจึงอยู่ในรูปแบบที่ไม่พร้อมใช้งาน


3. ปัญหาด้านเทคโนโลยี

การลงทุนด้านเทคโนโลยีเป็นปัญหาเรื้อรังของทุกองค์กรอันเนื่องมาจากการทำงานที่แยกส่วนกันระหว่างฝ่าย IT และฝ่ายธุรกิจ ทำให้รูปแบบการลงทุนด้านเทคโนโลยีของทั้ง 2 ฝ่ายมีความแตกต่างกัน ฝ่าย IT มักจะลงทุนด้าน Hardware หรือ Software ขนาดใหญ่ โดยหวังว่าจะสามารถใช้ระบบนี้ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้คุ้มกับการลงทุน ส่วนของฝ่ายธุรกิจเอง ก่อนหน้านี้การมองหา Solution มักจะเป็นรูปแบบการมองหา Vendor ที่มีระบบสำเร็จรูปมานำเสนอ อาจเพราะทางฝ่ายธุรกิจไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี และไม่ต้องการเสียเวลาเพื่อพัฒนาระบบด้วยตัวเอง โดย Solution เหล่านี้มิได้ถูกออกแบบมาเฉพาะจงเจาะ ทำให้บางครั้งก็อาจจะไม่เหมาะกับข้อมูลดิบ หรือโจทย์ขององค์กร การแก้ปัญหาด้านเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ต้องเริ่มจากการเพิ่มทักษะต่าง ๆ ให้ฝ่าย IT โดยไม่ยึดติดที่เทคโนโลยียี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง และคัดเลือกเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่น พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ภายในองค์กร


4. การขาดบุคลากร

กระแส Digital Technology และ Big Data เข้ามาในประเทศไทยค่อนข้างเร็ว ทำให้ระบบการศึกษาปรับตัวไม่ทัน จึงเกิดปัญหาขาดบุคลากรในตลาดแรงงาน และยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังมากว่า 5 ปี เนื่องจากองค์กรต่าง ๆ กำลังมองหาคนที่มีประสบการณ์ทำงานมาแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการต่าง ๆ จะได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม ทำให้เกิดการแข่งขันสูง ทำให้บุคลากรด้านเทคโนโลยีมีค่าตัวสูงตามความต้องการของตลาด


5. ข้อมูลกระจัดกระจาย

เพื่อให้การวิเคราะห์มีความละเอียด และครอบคลุมมากที่สุด ทรัพยากรข้อมูลที่นำมาใช้จึงเป็นข้อมูลที่มาจากหลากหลายแหล่งข้อมูล และเป็นไปได้ว่า การวิเคราะห์จะมีการใช้ข้อมูลที่มีโครงสร้าง หรือ Structured Data และ ข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง หรือ Unstructured Data ซึ่งหากองค์กรไม่มีระบบการบริหารข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งานจะมีอุปสรรคค่อนข้างมาก


6. เข้าไม่ถึงข้อมูล

การเข้าไม่ถึงข้อมูล เป็นปัญหาปลายเหตุ ที่เกิดจากการเก็บข้อมูลเอาไว้แยกส่วน และไม่มีการกำหนดผู้รับผิดชอบในการดูแลข้อมูล ผลลัพธ์ที่ได้ คือ การที่องค์กรมีการเก็บข้อมูลเอาไว้ แต่ไม่รู้ว่าใครเก็บ และไม่รู้ว่าข้อมูลอยู่ที่ไหน นอกจากนี้ยังมีปัญหาการหวงแหนข้อมูลอีกด้วย วิธีการแก้ปัญหา คือ การวางนโยบายในการกำกับดูแลข้อมูลที่ชัดเจน และมีการดำเนินโครงการ Data Governance


7. ผู้นำไม่เข้มแข็งพอ

ปัญหาผู้นำไม่เข้มแข็งพอ เป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด และถ้าปัญหานี้ได้รับการแก้ไข ปัญหาอื่น ๆ มักจะมีแนวโน้มถูกคลี่คลายไปได้ด้วยเช่นเดียวกัน คำว่า “ผู้นำ” ในที่นี้มิได้หมายความว่าประธานกรรมการบริหาร หรือ CEO (Chief Executive Officer) จะต้องมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เพราะในความเป็นจริง CEO มีหลากหลายหน้าที่ต้องรับผิดชอบ แต่ CEO มีหน้าที่ตรวจสอบ ให้ทิศทาง และคัดเลือกผู้มีหน้าที่รับผิดชอบแต่ละส่วน ไม่ว่าจะเป็น CIO, CTO หรือ CDO ก็ตาม แต่ถ้า CEO ไม่สามารถตรวจสอบ หรือให้ทิศทางกับทีมงานได้ ก็เหมือนการแล่นเรือออกนอกทะเลโดยไร้เข็มทิศ สุดท้ายก็หลงทาง เสียทั้งเวลา และงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์


8. ทีมงานไม่ให้ความร่วมมือ

เมื่อต้องการผลักดันให้เกิดการทำงานในรูปแบบใหม่ทั้งองค์กร ดังนั้นผู้มีส่วนร่วมจึงเป็นบุคลากรทั้งหมดขององค์กร แต่ถ้าทีมงานไม่ให้ความร่วมมือ ก็ยากที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นองค์กรจะต้องมีทีมบริหารการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Management ที่รับฟังปัญหาของทีมงาน และออกแบบวิธีการปรับเปลี่ยนที่ส่งผลเสียให้น้อยที่สุด


ความท้าทายเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า องค์กรที่สามารถผลักดันให้เป็น Data-Driven Organization ได้ ถือเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานขององค์กรไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ อาจจะเป็นการเติบโตที่มากขึ้นขององค์กร ต้นทุนที่ลดลง ประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งการมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด ในทางกลับกันหากองค์กรที่ไม่สามารถก้าวข้ามผ่านความท้ายเหล่านี้ไปได้ การทำงานก็จะยังคงอยู่ในรูปแบบเดิม ใช้ข้อมูลแบบเดิม มีวิธีวิเคราะห์แบบเดิม ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ จะดีหรือไม่ดี มิได้ขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนขององค์กรเพียงอย่างเดียว แต่อย่างน้อยที่สุด การที่องค์กรมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ถือเป็นการลดความเสี่ยงที่องค์กรจะล้าหลัง ขับเคลื่อนช้า และไม่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง


ความท้าทายของการผลักดัน Data-Driven
ความท้าทายของการผลักดัน Data-Driven

< Previous
Next >
bottom of page