คนยุคเก่า ควรปรับตัวอย่างไรในยุค Big Data
top of page

คนยุคเก่า ควรปรับตัวอย่างไรในยุค Big Data


How older generations should adapt to the era of Big Data ?


คนยุคเก่า ควรปรับตัวอย่างไรในยุค Big Data

หลายองค์กรกำลังมีปัญหาเรื่องช่วงวัยทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคนยุค Baby Boomer คน Gen X Y หรือ แม้กระทั่ง Z ที่กำลังเติบโตขึ้นมาด้วยระบบการศึกษา และวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

ก่อนจะพูดถึงแนวทางการปรับตัวในยุคปัจจุบัน เรามาลองดู Timeline ในอดีตกันก่อน

การปฏิวัติอุตสาหกรรม

ครั้งที่ 1: ปี 1784 ได้เกิดรถไฟเครื่องจักรไอน้ำขึ้น ทำให้เกิดการคมนาคมขนส่งที่สะดวกสบาย ผู้คนสามารถเดินทางไปไหนต่อไหนได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการค้าอย่างเปิดกว้างมากขึ้นด้วย

ครั้งที่ 2: ปี 1870 เมื่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับมีการสร้างระบบโรงงานผลิตสินค้า แทนที่การผลิตแบบครัวเรือน ที่ทำให้เกิดการสร้างสินค้าในปริมาณมากขึ้น ส่งผลให้มีสินค้าในตลาดมากขึ้น ประชาชนก็เข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้นด้วย

ครั้งที่ 3: ปี 1969 มีระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ในการผลิตมากขึ้น ทำให้สินค้ามีราคาถูกลง และผลิตได้ปริมาณมากขึ้น แต่การควบคุมการผลิตยังเป็นรูปแบบรวมศูนย์ หรือ Centralization ทำให้สินค้าที่ผลิตได้ เป็นรูปแบบ Mass ที่ต้องเน้นความพอใจของตลาดส่วนใหญ่ เพราะการออกแบบการผลิตแบบศูนย์กลาง ทำให้การตัดสินใจเป็บลำดับขั้นที่ต้องใช้เวลา

ครั้งที่ 4: ปี 2011 เป็นยุคแห่งข้อมูล และระบบดิจิตอล เมื่อข้อมูลทั้งหมดต้องอยู่ในรูปแบบที่เชื่อมโยงกันได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้งาน และมีรูปแบบการเชื่อมโยงแบบ Real Time ทำให้มีความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น รูปแบบการควบคุมงานจึงไม่ได้เป็นแบบ Centralization แต่เน้นการทำงานแบบกระจายตัว หรือ Decentralization มากกว่า ผลที่ได้รับคือสามารถผลิตงานได้หลากหลายขึ้น ไม่ได้เป็น Mass เหมือนเดิม เกิดผลิตภัณฑ์และสินค้าในรูปแบบ Customized มากขึ้น

จะเห็นได้ว่า ในแต่ละยุคสมัยจะมีวิวัฒนาการของเทคโนโลยี และการผลิตสินค้าอุปโภค บริโภคที่แตกต่างไป ทั้งหมดนั้น เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น อีกทั้ง ทักษะในการทำงานของมนุษย์ก็พัฒนามากขึ้นไปอีกด้วย ส่งผลให้ มนุษย์เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากตัวเลขรายงานจาก Our World in Data พบว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ส่งผลให้มนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นั่นอาจเป็นเพราะ มนุษย์ ได้ทำงานที่เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะมากกว่าเดิม โดยมีเครื่องมือต่างๆ เข้ามาทำงานแทนงานที่ใช้ทักษะน้อยลง

Life expectancy-How older generations should adapt to the era of Big Data ?

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นสิ่งที่เราหยุดยั้งไม่ได้ ที่สำคัญ ตัวเรานั่นเอง ที่เป็นปัจจัยหลักให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะทุกวันนี้ มือถือที่เราใช้ ก็เป็น Smart Phone กันหมด สร้างความสะดวก และมีลูกเล่นให้เราได้เพลิดเพลินมากมาย ก็คือผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีมิใช่หรือ

คำว่า “คนยุคเก่า” ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนล้าหลัง และคนที่ล้าหลัง ไม่ได้หมายถึงคนที่มีอายุเสมอไป เพราะสิ่งที่คนยุคเก่า มีมากกว่าคนยุคใหม่ ก็คือ “ประสบการณ์” และการปรับตัว เมื่อเกิดสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้คนที่มีประสบการณ์มากกว่า สามารถตัดสินใจได้เฉียบขาดกว่า เหมือนคำที่ว่า “อาบน้ำร้อนมาก่อน” นั่นเอง

 

การปรับตัวในทุกยุคทุกสมัย ก็คือ การเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นแนวความคิดใหม่ๆ เรื่องราวใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ แม้ว่าอาจจะไม่ได้เข้าใจทุกเรื่อง แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องเปิดใจ และไม่ปิดกั้น หากไม่สามารถเข้าใจกลไกของเทคโนโลยีได้หมด ก็ศึกษาแนวทางการใช้งานก็ได้ ไม่ยากจนเกินไป

บทเรียนสำคัญในเรื่องนี้ คือ “ความไม่รู้” ต้องแก้ดัวย “ความรู้” เพราะสิ่งที่คนกลัว คือ การถูกทิ้ง แต่ถ้าเราไม่อยากเป็นคนที่ถูกทิ้ง เราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นๆ คนแต่ละคนจะมีความโดดเด่นต่างกัน หากสามารถหาความโดดเด่นของตัวเองเจอ ก็จะสามารถสร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพได้ และมีโอกาสโดนแย่งงานได้น้อยลง

สิ่งที่เครื่องมือ หรือหุ่นยนต์ไม่สามารถทำแทนมนุษย์ได้ มีหลายอย่าง เช่น การเป็นผู้นำ การตัดสินใจแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า การออกแบบสิ่งต่างๆ นอกกรอบเดิม เป็นต้น เป็นทักษะของ “มนุษย์” เท่านั้น

สุดท้ายนี้ ก็อยู่ที่ว่า คุณจะอยากเป็นคนยุคเก่า ที่ล้าหลัง หรือจะเป็นคนยุคเก่า ที่พร้อมพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมกับโลกใบนี้ ก็อยู่ที่คุณจะตัดสินใจเลือกทางเดินของตัวเอง แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดก็คือ คุณไม่สามารถต้านทานการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้อีกต่อไปแล้ว

 

< Previous
Next >
bottom of page